
ในหลายประเทศทั่วโลกได้นิยมใช้ปูนซีเมนต์สำหรับก่อสร้างอาคาร หรือบูรณะซ่อมแซมอาคาร เพราะคุณสมบัติ ที่แข็งแรง และง่ายในการก่อสร้าง แต่ใครจะรู้ว่าปูนซีเมนต์จะเป็นตัวทำลายโบราณสถานของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อบูรณะซ่อมแซมด้วยปูนซีเมนต์ ส่งผลให้อาคารไม่สามารถระบายความชื้นออกมาได้ จนสร้างความเสียหายให้กับอิฐ และส่วนอื่นๆ ของโบราณสถานนั่นเอง แล้วถ้าหากปูนซีเมนต์ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ แล้วปูนแบบไหนจะเข้ามาแทนที่กันละ?
ในวันนี้ Materials Room จึงขอหยิบตัวอย่าง วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเล่าให้ฟังกัน
อดีตโบราณสถานเคยถูกบูรณะซ่อมแซมด้วยปูนซีเมนต์
ในการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมในงานอนุรักษ์โบราณสถานทั่วโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มักนิยมใช้ปูนซีเมนต์เข้ามาเป็นหนึ่งในวัสดุหลัก ยกตัวอย่างเช่น วัดไชยวัฒนารามเอง ก็ได้ใช้ปูนซีเมนต์เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับหน้าตา และโครงสร้างให้กับวัด ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2530-2535 สังเกตได้ว่าในร่องอิฐจะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์เป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่ขอบระเบียง หรือคิ้วบัว ก็ยังมีปูนซีเมนต์ให้เห็นไปเกือบทั่วทั้งวัด ไม่เพียงเท่านั้นหากมองไปที่โบราณสถานก่ออิฐถือปูนโดยรอบ การบูรณะซ่อมแซมก็ยังนิยมใช้ปูนซีเมนต์เกือบทั้งหมด
ปรับเปลี่ยนการอนุรักษ์ด้วยการรื้อฟื้นปูนโบราณกลับมาใช้อีกครั้ง
หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า วัดไชยวัฒนาราม และโบราณสถานก่ออิฐถือปูนทั้งหลายโดยรอบ ดั้งเดิมใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างหรือไม่? คำตอบก็คือ ไม่ใช่อย่างแน่นอน เพราะในสมัยอดีตการก่อสร้างอาคารขึ้นจากอิฐ จะใช้ปูนโบราณ หรือปูนขาวเป็นส่วนผสมหลักที่หาได้จะบริเวณรอบพื้นที่นั้นๆ และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย คุณสมบัติของปูนขาวที่ใช้เป็นตัวผสานอิฐยังสามารถระบายความชื้นได้ดี ทำให้ตัวอาคารไม่กักเก็บความชื้น และอาคารมีอายุยาวนานมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากซีเมนต์ทำให้อิฐผุกร่อน
เมื่อเทียบกับการใช้ปูนซีเมนต์แล้ว พวกมันจะให้คุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าปูนขาว แต่ข้อเสียคือตัววัสดุกักเก็บความชื้นได้ดี และด้วยความหนาแน่นของตัวมันเองยังบังคับให้ความชื้นออกมาทางรูพรุนของอิฐโบราณ ซึ่งส่งผลให้อิฐโบราณผุกร่อน นอกจากนี้ด้วยปูนซีเมนต์มีส่วนผสมของเกลืออยู่ในปริมาณมาก ทำให้เกิดการตกผลึกบนผิวอิฐโบราณ จึงทำให้ระหว่างปูน และอิฐค่อยๆ แยกตัวออกจากกันจนเกิดความเสียหายได้
ในปัจจุบันนี้ทางโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ได้พิจารณาให้ทำการรื้อถอนปูนซีเมนต์ออกทั้งหมด ยกเว้นการรื้อถอนที่จะส่งผลต่อวัสดุโบราณของตัวอาคาร และหันกลับไปใช้วัสดุดั้งเดิมของงานช่างโบราณอย่างการใช้ปูนขาวเข้ามาเป็นวัสดุหลักในงานอนุรักษ์ อย่างไรก็ตามทั้งการรื้อถอน และนำปูนขาวมาใช้ใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และใช้เวลายาวนานพอสมควร เนื่องจากกองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างด้วยปูนขาวเริ่มค่อยๆ ใกล้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะการใช้ปูนซีเมนต์มาอย่างยาวนาน รวมไปถึงปัจจุบันมีช่างอิฐเพียงไม่กี่คนที่รู้วิธีการทำงานอย่างเชียวชาญกับปูนขาว ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอนุรักษ์ของกรมศิลปกรได้
รู้จักกับซีเมนต์ที่มีมายาวนานก่อนประวัติศาสตร์
ย้อนกลับมาทำความรู้จักกับปูนซีเมนต์กันสักหน่อยว่ามีที่มาเป็นอย่างไร สำหรับโลกใบนี้แล้วมนุษย์ได้รู้จักกับการใช้อิฐที่ทำจากดินเหนียวมานานกว่า 7,000 ปี ก่อนคริสตกาล โดยค้นพบได้แถบอินเดีย และ แถบหุบเขาอินดุส ซึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการก่อสร้างด้วยอิฐก็คือซีเมนต์ ที่จะเป็นตัวผสานให้อิฐแต่ละก้อนยึดติดกัน แต่มีพื้นหนึ่งที่มีนวัตกรรมของซีเมนต์พิเศษกว่าใคร นั่นก็คือ ชาวกรีก-โรมันโบราณ เนื่องจากพวกเขานำเอาเถ้าภูเขาไฟผสมเข้าไปกับปูนขาว ทำให้เกิดคุณลักษณะพิเศษคือ เนื้อปูนสามารถแข็งตัวได้แม้อยู่ใต้น้ำ หรือที่เรียกกันว่า hydraulic cement ได้อย่างน่าทึ่ง
แต่แล้วองค์ความรู้เหล่านี้ก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการคิดค้น และพัฒนาสูตรซีเมนต์ให้มีคุณลักษณะแบบ hydraulic cement เหมือนซีเมนต์ของชาวกรีก-โรมันขึ้นมา อีกครั้งหนึ่ง และมีชื่อเรียกว่า“ซีเมนต์พอร์ตแลนด์” ซึ่งเริ่มพัฒนาจอห์น สเมียตัน (John Smeaton) ในปี 1756 แต่คนส่วนใหญ่กลับยกให้ โจเซฟ เอส์ปดิน เป็นผู้คิดค้น เนื่องจากเขาได้รับสิทธิบัตร ในสิ่งประดิษฐ์ที่เขาเรียกว่า “ซีเมนต์พอร์ตแลนด์”ที่ทำมาจากส่วนผสมของหินปูน (limestone) กับดินเหนียว ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหินปูนในเมืองพอร์ตแลนด์เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามสูตรของ โจเซฟ เอส์ปดิน กลับยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ จนในปี 1850 ไอแซค ชาลส์ จอห์นสัน ก็ได้ผลิตปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ออกมาได้สมบูรณ์ และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก และในประเทศไทยเองก็ได้เริ่มนำเข้ามาใช้ปูนซีเมนต์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และเริ่มผลิตใช้เองในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6
ซีเมนต์พอร์ตแลนด์ที่นิยมใช้กันทั่วโลก
โดยซีเมนต์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ได้เป็นส่วนผสมต่างๆ เช่น หินปูน ดินเหนียว ซิลิกา อลูมิเนียมออกไซด์ เหล็กออกไซด์ เป็นต้นโดยบดและผสมจนเป็นเนื้อเดียวกันที่อุณหภูมิ มากกว่า 1,300 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ตัวซีเมนต์มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าซีเมนต์พอร์ตแลนด์มีคุณสมบัติของการยึดเกาะสูง มีความเค็ม จึงไม่เหมาะกับการมาใช้งานในพื้นที่ที่มีความชื้นมากนัก
ปูนขาวหมักที่ใช้กันในยุคโบราณของประเทศไทย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปูนขาว องค์ประกอบสำคัญสำหรับปูนทุกประเภทมาตั้งแต่โบราณนานมาทั้ง ฝั่งตะวันออกและตะวันตกมานานพอๆ กับซีเมนต์ รวมถึงในประเทศไทยเองก็ได้ค้นพบการใช้ปูนขาวที่ผสมผสานกันระหว่าง หินปูน หินอ่อน และเปลือกหอย มาตั้งแต่ช่วงสมัยทวาราวดีแล้ว ซึ่งในประเทศไทยได้คิดค้นปูนขาวหมักสูตรโบราณออกมาเป็น 3 รูปแบบดังนี้
ปูนก่อ หรือ ปูนสอ (Mortar)
หากนำปูนขาวไปใช้เป็นวัสดุเชื่อมยึดหินหรืออิฐให้ติดกันเพื่อก่อเป็นผนัง กำแพง หรือเพดานก็จะเรียกว่า “ปูนสอ” (Mortar) ซึ่งเป็นปูนขาวที่หมักด้วยกาแช่น้ำ จากนั้นน้ำและปูนจะเกิดความร้อนและเย็นตัวลง และมาพักทิ้งไว้ ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนไปถึง 2 เดือน เพื่อทำให้ปูนจืดไม่เกิดคราบเกลือบนผนัง เมื่อได้ปูนแล้วให้นำไปผสมกับทรายที่มีเหลี่ยมมุมสูง เพื่อให้เกิดความแข็งแรง คงทน พร้อมนำไปใช้งานเป็นตัวผสานระหว่างอิฐ หรือนำไปก่อเป็นกำแพง หรือเพดานให้แข็งแรงได้
ปูนฉาบ (plaster)
สำหรับปูนฉาบคือ ปูนขาวที่ถูกหมักไว้ในน้ำจนเหนียว ด้วยการนำไปตำกับครกไม้ เมื่อเหนียวได้ที่แล้วให้นำไปผสมกับทรายละเอียด เพื่อใช้เป็นวัสดุฉาบในชั้นแรก หากนำปูนหมักไปตำในระยะเวลานานมากขึ้น เนื้อปูนจะมีความันเงาที่สามารถนำไปเป็นฉาบทับรอบที่สองได้
ปูนปั้น (stucco)
ปูนปั้นจะมีผสมที่มากขึ้นกว่าสูตรอื่นๆ โดยจะมีส่วนประกอบไปด้วย ปูนหมัก น้ำอ้อย(กาว) หนังวัวหนังควาย(สารอินทรีย์) รากไม้หรือเปลือกไม้ 7 ชนิด (ส่วนมากจะเลือกพืชที่มีเปลือกไม้ที่ลอกและกะเทาะออกจากต้นได้ ) เพื่อให้ปูนสามารถปั้นขึ้นรูปได้ง่าย และแข็งแรง
จะเห็นได้ว่า ด้วยส่วนผสมของปูนขาวจะน้อยกว่าซีเมนต์ทำให้ระบายความชื้นได้ดีกว่า แต่อาจจะมีข้อเสียตรงที่การยึดเกาะอาจจะไม่แข็งแรงเท่าซีเมนต์ อย่างไรก็ตามสูตรปูนขาวอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตายตัวแน่ชัด ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิปัญญา และทรัพยากรในท้องถิ่นนั้นๆ
ข้อสันนิษฐานกรณีเจดีย์วัดศรีสุพรรณถล่ม
หากย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 เดือน ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์เจดีย์เก่าแก่ของวัดศรีสุพรรณโค่นล้มพังทลายลงมา ข้อสันนิษฐานอันดับต้นๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของความชื้นที่สะสมอยู่ภายในเจดีย์ที่มีปริมาณมาก และไม่มีส่วนให้ระบายออก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการใช้ปูนซีเมนต์ฉาบทับไปบนเจดีย์ รวมไปถึงการทาสีทองทับเพิ่มลงไป ซึ่งยิ่งทำให้ความชื้นกัดกร่อนอิฐเก่าภายในจนเกิดการยุบตัวลงของอิฐแต่และชั้น ส่งผลให้เจดีย์โค่นล้มลงมาได้
อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยสามารถรื้อฟื้นภูมิปัญญาเก่าเหล่านี้กลับมา แล้วพัฒนาให้มีคุณสมบัติให้ดียิ่งขึ้น เชื่อได้เลยว่าการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทยจะมีเรียบง่าย และอาจจะไม่ต้องปรับปรุงบ่อยครั้งจากความชื้น ซึ่งอาจจะต่อยอดไปสู่การนำมาสร้างอาคารอื่นๆ ในปัจจุบันได้อีกด้วย
อ้างอิงโดย
วิทยานิพนธ์ ปูนในโบราณสถานของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแหล่งมรดกโลก โดย นวลลักษณ์ วัสสันตชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.