
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในงานออกแบบคือเรื่องของ ‘วัสดุ’ เพราะสีสัน และผิวสัมผัส ช่วยสร้างให้งานออกแบบอาคาร ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ มีมิติทางด้านความงาม และฟังก์ชันเสริมในการใช้งานอีกด้วย
Material ConneXion Bangkok และ TCDC Material Database จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้กับดีไซน์เนอร์ และผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้ได้เข้าถึงข้อมูลวัสดุ และพัฒนาธุรกิจวัสดุให้ยั่งยืน ในครั้งนี้ Materials Room ได้รับเกียรติจากทาง ดร. ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมองค์ความรู้จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA มาบอกเล่าสิ่งที่น่าสนใจทั้งสองฐานข้อมูลนี้ให้ได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น
พัฒนาวัสดุไทยทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
เมื่อปี พ.ศ.2548 ทาง Thailand Creative & Design Center(TCDC) ยังไม่มีระบบรวบรวมฐานข้อมูลวัสดุในประเทศไทยมีเพียงแค่แหล่งเรียนรู้ และสถานที่บ่มเพราะธุรกิจสร้างสรรค์ที่ยังขาดในเรื่องของวัสดุ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการออกแบบ ฐานข้อมูลวัสดุที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้นคือ Material ConneXion New York ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าสำคัญของโลก เพราะมี Physical Library ในการจัดเก็บข้อมูลมากถึง 5,000 รายการ ทาง TCDC ได้มองเห็นศักยภาพทางด้านข้อมูล ความรู้ และการพัฒนาสินค้าวัสดุจึงได้ร่วมมือกับทาง New York และได้ก่อตั้ง Material ConneXion Bangkok แห่งแรกของเอเชีย หลังจากที่ทาง Thailand Creative & Design Center(TCDC) ปรับเปลี่ยนมาเป็น Creative Economy Agency (CEA) ทางองค์กรจึงได้เพิ่มการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคคล และธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
“เดิมเราเพียงแค่ทำหน้าที่นำวัสดุจากประเทศไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Material ConneXion Bangkok เพื่อเป็นฐานข้อมูลในระดับโลก แต่เรายังไม่เคยได้รวบรวมวัสดุจากประเทศไทย จึงเป็นที่มาของ TCDC Material Database ที่มีการรวบรวมวัสดุของประเทศไทยให้สามารถค้นหาได้ง่ายทุกภูมิภาค หรือย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น เจริญรัถ สำเพ็ง พาหุรัด เป็นต้น”
ช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการ และดีไซน์เนอร์
ภายในบริเวณชั้น 2 ของ TCDC มีห้อง Material & Design Innovation Center ที่จะนำเสนอระหว่าง Material ConneXion Bangkok และ TCDC Material Database ให้ได้เห็นนวัตกรรมของวัสดุ และผลงานวิจัยต่างๆ ทั้งในไทย และต่างประเทศ รวมไปถึงให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอวัสดุเพื่อนำเข้าสู่ฐานข้อมูล และหาข้อมูลเพื่อพัฒนาวัสดุต่อไปได้
“เราตั้งใจเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ และนักสร้างสรรค์ ได้จับมือกันเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงาน รวมไปถึงช่วยพิจารณาวัสดุนำเข้าสู่ฐานข้อมูลวัสดุ”
Material ConneXion Bangkok ต้องรักษ์โลก มีนวัตกรรม
วัสดุที่นำเข้าสู่ Material ConneXion Bangkok ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต และวัตถุดิบที่นำมาใช้ออกแบบวัสดุต้องสามารถต่อยอดสู่งานออกแบบได้ รวมไปถึงต้องมีนวัตกรรมและใช้งานได้หลากหลาย ในปัจจุบันนี้การเปิดรับพิจารณาเป็นไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา นักวิจัย หรือกำลังสร้างต้นแบบจากแนวคิด
“ก่อนที่จะส่งไปยัง Material ConneXion Bangkok ทางเราจะเป็นผู้พิจารณาในรอบแรกก่อน ว่ามีคุณสมบัติตามข้างต้นนี้หรือไม่ รวมไปถึงการผลิตที่ต้องมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ ก่อนที่จะส่งไปยัง Material ConneXion New York ซึ่งทางนั้นจะมีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาว่าวัสดุเหมาะสมต่อการเข้าสู่ฐานข้อมูลหรือไม่ หากวัสดุเข้าสู่ฐานข้อมูลจะมีเครดิตในทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือ และต่อยอดทางธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น”
ฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database
TCDC Material Database วัสดุในไทยจากภูมิภาคต่างๆ หรือเป็นวัสดุจากต่างประเทศแต่สามารถหาซื้อได้ง่ายที่ประเทศไทย สิ่งสำคัญของวัสดุไทยคือต้องมีความเป็นเอกลักษณ์ มีคุณภาพ สามารถผลิตได้อย่างมีเสถียรภาพ หากเป็นสินค้า OTOP ชุมชนต้องมีความเข้มแข็งและได้รับการันตีในระดับ 4-5 ดาว
“การพิจารณาผู้ประกอบการจากชุมชนต้องดูว่ามีกำลังการผลิตมากน้อยเพียงใด ถ้าพวกเขามีเครือข่ายก็สามารถที่จะผลิตส่งออกได้ รวมไปถึงต้องควบคุมคุณภาพด้วยคือหลักสำคัญ ยกตัวอย่างนวัตกรรมวัสดุจากผู้ประกอบการไทย เช่น พลาสติกชีวภาพที่ทำจากข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่เมื่อใช้แล้วสามารถผ่านกระบวนการรีไซเคิล และผสมกับวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ ข้อมูลวัสดุและร้านค้าจากย่านการค้าต่าง ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าหลายๆ คน เช่น ผู้กำลังเริ่มต้นธุรกิจ หรือ นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการนวัตกรรมจากวัสดุไทยมาใช้งาน เพราะสามารถซื้อได้ในปริมาณที่น้อยได้ และมีราคาที่เหมาะสม”
ความแตกต่างระหว่าง TCDC Material Database และ Material ConneXion Bangkok
จากคุณสมบัติทางด้านวัสดุที่ต้องมีนวัตกรรม และรักษ์โลกแล้ว สิ่งสำคัญคือศักยภาพในการตลาด วัสดุของ TCDC Material Database ส่วนใหญ่จะเน้นการตลาดในประเทศ เหมาะกับคนที่กำลังพัฒนาวัสดุ และกำลังเริ่มต้นในประเทศไทย แต่วัสดุในฐานข้อมูล Material ConneXion Bangkok ไม่ว่าจะได้รับออเดอร์ในประเทศ หรือต่างประเทศในปริมาณเท่าใดต้องสามารถเจรจาพูดคุยในการผลิตและส่งออกได้
“จุดเด่นที่เห็นได้ชัดของวัสดุจากฝั่งอเมริกาหรือยุโรป พวกเขามีเทคโนโลยีและกำลังการผลิตที่มีความก้าวหน้ามากกว่า ประเทศไทยอาจจะยังตามท้ายอยู่แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีก็คือวัสดุจากธรรมชาติ และทางการเกษตร ซึ่งในเรื่องนี้เรามีศักยภาพสูง ในปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนกำลังเป็นที่นิยม วัสดุไทยก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้ประกอบการ หรือดีไซน์เนอร์จากทั่วโลกกำลังมองหาอยู่”
ผู้ประกอบการวัสดุต้องมีเป้าหมาย และมีใจรัก
“การพัฒนาวัสดุต้องตั้งคำถามก่อนว่า ทำอะไร ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร และต้องเริ่มจากความสนใจและรักจริงๆ ถ้าจะเริ่มต้นต้องมองหาจากสิ่งรอบตัวว่าเรามีความถนัดหรือมีความรู้เรื่องใด ที่สำคัญเราต้องมีเป้าหมายในอนาคต เช่น กระบวนการทางด้านการตลาด การการผลิต และการส่งออก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเราสามารถสร้างเครือข่ายกับชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีวัตถุดิบได้เพื่อวางระบบให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งเราเข้าใจปัญหาความยุ่งยากทางธุรกิจ ทาง CEA มีบริการในกิจกรรมให้คำปรึกษาธุรกิจสร้างสรรค์แบบ One on One ในทางด้านโมเดลธุรกิจ วัสดุ การตลาดและแบรนด์ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกวันพฤหัสบดี เพียงแค่มีผู้ประกอบการแนวคิดที่เป็นจุดเด่นในธุรกิจไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การพัฒนา”
นำวัสดุเข้าสู่ฐานข้อมูลฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
หากผู้ประกอบการคนใดสนใจนำเข้าสู่ฐานข้อมูลวัสดุก็สามารถส่งเข้าไปได้ที่ TCDC Material Database และ Material ConneXion ฺBangkok ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยการส่งแบบฟอร์มข้อมูลวัสดุและตัวอย่างวัสดุ จากนั้นทางเราจะพิจารณาและส่งต่อให้กับทาง Material ConneXion New York สำหรับคนทั่วไปสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลวัสดุในฐานข้อมูล Material ConneXion รายปีในราคา 6,000 บาท แต่ถ้าใครเป็นสมาชิกของ TCDC อยู่แล้วสามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลได้ทั้ง TCDC Material Database และ Material ConneXion เพียงจ่ายค่าสมัครรายปี 600 บาท สำหรับนักศึกษา และ 1,200 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdcmaterial.com
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.