
เมื่อพูดถึงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม หนึ่งในสตูดิโอน่าสนใจก็คือ Sanitas Studio ที่นำโดย คุณบีน-สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ซึ่งพวกเขามีแนวคิดในการออกแบบที่ผสมผสานไปกับความเป็นศิลปะ โดยมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น พลาซ่าของอาคารอับดุลราฮิม เพลส หรือ การออกแบบงานศิลปะรอบเขามอของวัดอรุณ
ในคราวนี้ Materials Room จึงได้เข้าไปเยือนที่สตูดิโอ เพื่อพูดคุยเจาะลึกเกี่ยวกับวัสดุโดยเฉพาะ ว่าพวกเขามีการขั้นตอนการคัดเลือกวัสดุอย่างไรให้งานออกแบบออกมาดูน่าสนใจได้ขนาดนี้ ไปติดตามกัน
สตูดิโอที่สร้างความรู้สึกผ่านวัสดุ
Sanitas Studio คือสตูดิโอภูมิสถาปัตยกรรมที่นำแนวคิดของศิลปะมาใช้ในการออกแบบ ทั้งประเภท คอนโดมิเนียม หมู่บ้าน และพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงยังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม และอินสตอเรชั่นในพื้นที่สาธารณะที่เน้นไปที่การสื่อความหมายให้ผู้คนได้ตีความกันได้อย่างน่าสนใจ มาเป็นระยะเวลานานถึง 12 ปีแล้ว ซึ่งสตูดิโอเองก็ยังคงมุ่งมั่นออกแบบพื้นที่ และผลงานศิลปะให้ผู้คนได้หยุดคิด ไตร่ตรอง มีเวลาอยู่กับตัวเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอด นอกจากสเปซที่เป็นตัวแปรสำคัญแล้ว การสะกดคนใช้งานไว้ให้อยู่หมัดให้เป็นไปตามแนวคิดได้ก็คงจะต้องเป็นเรื่องของวัสดุซึ่งเป็นอีกปัจจัยหลักสำคัญเช่นเดียวกัน
SOFTSCAPE และ HARDSCAPE สองวัสดุสำคัญในงานภูมิสถาปัตยกรรม
การเลือกใช้วัสดุของงานภูมิสถาปัตยกรรมจะต้องดูภาพรวมของสถาปัตยกรรม และอินทีเรียผนวกเข้าไปด้วย เพื่อให้ภาพของงานออกแบบถูกเล่าเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแนวคิดของการออกแบบ ซึ่งงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจะถูกแบ่งวัสดุออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ วัสดุพืชพรรณ (SOFTSCAPE) พระเอกหลักของงานภูมิสถาปัตยกรรม เพราะสามารถมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางได้ตลอดทั้งปี และ วัสดุก่อสร้าง และการตกแต่ง (HARDSCAPE) เช่น ทางเดิน ศาลา ระแนงบังตา ที่นำมาใช้กำหนดฟังก์ชันต่างๆของโครงการ โดยในโครงการส่วนใหญ่วัสดุพืชพรรณจะมีจำนวนมากกว่าส่วนของวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ และแนวคิดในการออกแบบ
การเลือกวัสดุมีชีวิตในงานภูมิสถาปัตยกรรม
สำหรับวัสดุพืชพรรณ (SOFTSCAPE) ภูมิสถาปนิกจะจินตนาการถึงทรงพุ่ม และการเจริญเติบโตของต้นไม้ชนิดต่างๆ เพื่อทำการคัดเลือก และนำต้นไม้ลงไปในพื้นที่ เช่น ไม้ยืนต้นอาจจะนำไปใช้ในจุดไฮไลท์ หรือนำสายตาให้กับพื้นที่ของโครงการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมิติในเรื่องของกลิ่นที่จะสร้างเสริมบรรยากาศ หรือสเปซให้ดูน่าผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกชนิดพืชพรรณ์ยังต้องสอดคล้องไปกับ แดด และการให้น้ำ เช่น หากต้องการปลูกไทรเกาหลี อาจจะต้องดูพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด เพื่อที่จะทำให้การดูแลรักษาง่ายมากขึ้น
“ถ้าให้เปรียบงานสถาปัตยกรรม ต้นไม้ก็คือ พื้น เสา และคาน ที่มีชีวิต ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของงานภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งอาจจะเป็นการปลูกใหม่ ขุดล้อมมาปลูก หรือการคงไว้ของต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้วออกแบบให้สอดคล้องกัน อย่างตอนนี้เราได้เริ่มออกแบบพื้นที่สวนป่าในเพชรบุรี ก็ทำให้เราต้องศึกษาพืชพรรณแบบป่าโปร่ง ป่าดิบชื้น และดิบแล้ง รวมไปถึงป่าวัฒนธรรมอย่างสวนนาป่าตาล เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ซึ่งการลงต้นไม้ลงไปในพื้นที่ เริ่มแรกเราจะใช้ต้นไม้ล้อมกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เข้ามาปลูกก่อน เพื่อให้ร่มเงาแก่เมล็ดพันธุ์ หรือ ต้นกล้า ซึ่งหากเราออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติก็จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และดูแลรักษาง่าย”
ควรใช้วัสดุที่กันลื่น และคงทนต่อแดด ลม ฝน
สิ่งสำคัญสำหรับภูมิสถาปัตยกรรมเลยคือเรื่องของพื้นกันลื่นที่ต้องได้ค่า R11 เนื่องจากพื้นภายนอกมักจะโดนแดด และฝนอยู่ตลอดเวลา ที่อาจจะทำเกิดความลื่น และอันตรายได้ ซึ่งรวมไปถึงพื้นของสระว่ายน้ำด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของงานภูมิสถาปัตยกรรม การใช้วัสดุ Mosaic ที่มีความสะท้อนเล่นไปกับแสงพระอาทิตย์ก็เป็นการดึงเอาธรรมชาติมาไว้ใกล้กับคนใช้งานผ่านวัสดุได้อีกทางหนึ่ง
ในช่วงแรกภูมิสถาปนิกนิยมใช้วัสดุธรรมชาติเข้ามาใช้งาน เช่น กระเบื้องหินจริง กระเบื้องดินเผา หรืออิฐมอญ มาใช้ในการปูพื้น แต่หลังจากใช้งานไปสักพักก็ได้ค้นพบว่าเมื่อวัสดุโดนน้ำนานๆ จะเริ่มเกิดตะไคร่ น้ำ และมีคราบปูนที่เกิดจากการยาแนว จึงไม่ควรใช้กับงานที่ต้องการความเนี้ยบในระดับสูง
“ในปัจจุบันเราเลือกใช้วัสดุทดแทนใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ไม้เทียม หรือหินคอบเบิ้ลสโตน ซึ่งเป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติสามารถนำใช้ทดแทนไม้จริง หิน หรือกรวดล้างได้ ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเสน่ห์ของวัสดุจากธรรมชาติ แต่ควรใช้ในพื้นที่เหมาะสม เช่น ไม่เปียกน้ำ ไม่อับชื้น มีอากาศระบายได้ตลอดทั้งวัน หากเป็นไม้ต้องผ่านช่วงบิดตัวไปแล้ว หรือไม้ที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว”
“หรือสมัยก่อนเราใช้กรวดล้าง หรือ ทรายล้าง ทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องบำรุงรักษาทุกสี่ถึงห้าปี แต่เราพับว่าปัญหาของวัสดุนี้ เมื่อเปลี่ยนกรวดหรือทรายล้างใหม่ โทนสีก็จะมีความแตกต่างจากของเดิมที่ยังคงติดตั้งอยู่ ช่วงหลังนี้จึงหันมาใช้ กรวด TROWEL WALL หรือ Color flake Floor แต่ก็ยังงานบางประเภทที่มีการกลับไปใช้กรวด และหินล้างอยู่ เพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย และง่ายต่อการติดตั้งสำหรับผู้รับเหมาในต่างจังหวัด”
ความแตกต่างของการใช้วัสดุระหว่างงานภูมิสถาปัตยกรรม และ งานศิลปะ
UNROLLING THE GREEN CARPET
โจทย์ของการออกแบบในครั้งนี้คือต้องการสร้างพื้นที่ให้ดูทันสมัย และเปิดพื้นที่ให้เชื่อมกับเนื้อเมืองมากยิ่งขึ้น ภูมิสถาปนิกจึงใช้แนวคิด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ โดยการหยิบนำดินในพื้นที่มาสร้างเป็น Rammed Earth หรือผนังทางเข้าโครงการ และผนังกันดินสำหรับปลูกต้นไม้ ให้กลายเป็นฟีเจอร์เด่นของพื้นที่เสมือนเป็นการเดินทะลุเข้าไปในชั้นดินที่กำลังโอบล้อมอยู่ และค่อยๆ ไล่ระดับเข้าไปยังล๊อบบี้ของอาคารที่ต้องรับด้วยประติมากรรมแสตนเลส พร้อมปูพื้นด้วยวัสดุหินแกรนิตสีเทาอ่อน และเข้ม ที่ให้ความคงทน และแข็งแรง นอกจากนี้ยังออกแบบให้ดูเป็นธรรมชาติด้วย Stepping stone พร้อมโรยกรวด และต้นไม้ทุกเกือบทั้งหมด เป็นต้นไม้เดิมของพื้นที่ที่ภูมิสถาปนิกยังคงเก็บรักษาไว้
ACROSS THE UNIVERSE AND BEYOND
ACROSS THE UNIVERSE AND BEYOND เป็นงานศิลปะที่ผสมผสานกับไปภูมิสถาปัตยกรรม รอบพื้นที่ของเขามอในวัดอรุณที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ด้วยการใช้อะคริลิคโปร่งใสพร้อมเคลือบด้วยสีแดงชาติ เพื่อให้แสงแสงเช้า กลางวัน และเย็นกระทบผ่านวัสดุสะท้อนลงไปที่โบราณสถาน อะคริลิคถูกยึดเข้ากับโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเป็นงานที่ต้องพูดคุยกับวิศวกรเรื่องความแข็งแรงอยู่ตลอด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีลมพัดแรงจากแม่น้ำเจ้าพระยา
“จะเห็นได้ว่างานทั้งสองประเภทต้องการความสวยงาม ความคงทนแข็งแรง และความปลอดภัย แต่แตกต่างตรงที่ งานศิลปะจะใช้วัสดุที่เน้นไปที่การสื่อความหมายมากกว่า ซึ่งการทำงาน ACROSS THE UNIVERSE AND BEYOND ใช้เวลาเลือกเฉดสี และวัสดุโปร่งใส่อยู่นานเพื่อให้เป็นการสื่อความหมายได้มากที่สุด รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบกับเขามอเก่าแก่ที่มีอยู่เดิมด้วย ฉะนั้นจึงต้องทำให้โครงสร้างแข็งแรงด้วยเช่นกัน”
เรียนรู้การจัดวัสดุมาจากประสบการณ์ที่เคยได้ทำงานในต่างประเทศ
การจัดแผงวัสดุไว้ที่ผนังของสตูดิโอได้ไอเดียจากสตูดิโอที่เคยทำงานในต่างประเทศ ข้อดีของการจัดวางวัสดุแบบนี้จะทำให้มองเห็นได้ชัด เลือกหยิบใช้ได้ง่าย โดยจะบริเวณซ้ายสุดจะเป็นส่วนของไม้ และไล่มาเป็นส่วนของหินผิวสีอ่อน และผิวสีเข้ม หากเป็นวัสดุชนิดโมเสค หรือ วัสดุชนิดเล็กจะถูกจัดวางไว้ด้านบนสุด
“การแบ่งแบบนี้จะมองเห็นผิวสัมผัส และเปรียบเทียบได้ในทันที อย่างหินชนิดเดียวกันคนละสีคนละผิวสัมผัสก็ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน ซึ่งในบอร์ดใหญ่เราไม่ได้จำกัดว่าบริเวณใดบริเวณหนึ่งจะต้องเรียงวัสดุปูพื้นเท่านั้น หรือผนังเท่านั้น แต่เราใช้วิธีคละกันแต่จำประเภทของวัสดุให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผลที่ได้ก็คือเราสามารถหยิบวัสดุของผนังมาทำเป็นพื้นก็ได้”
“เมื่อเราดีไซน์เสร็จก็จะมามองดู และจินตนาการว่างานของเราจะออกมาเป็นแบบไหน ทั้งในเรื่องรายละเอียดความสวยงามและความคงทน เช่น หินอ่อนเปราะบางง่ายก็ไม่ควรใช้ในพื้นที่ภายนอก หรือ การเลือกกระเบื้องสีดำ 2 แบบ แต่ชนิดแรกมีผิวประกาย อีกชนิดมีสีน้ำเงินแทรกเข้าไปก็ต้องมาดูว่าแบบไหนเหมาะสมกับงานของเรา หรือการนำหินไปที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งสีจะเปลี่ยนไปแล้วยังดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นไหมก็ต้องเอามาทดสอบดู”
“เรื่องขนาดก็สำคัญเพราะขนาดวัสดุที่ซัพพลายเออร์ส่งมาจะมีขนาดเล็กจนบางทีมองไม่เห็นภาพรวม และลวดลายของวัสดุ จึงต้องทำการขอแผ่นขนาดจริงตามมาอีกครั้ง ซึ่งทุกอย่างมีรายละเอียด เมื่อเลือกแล้วก็ต้องเอามาเทียบดูผ่านการจัดบอร์ดวัสดุขนาดเล็ก เพื่อให้งานออกมาตรงตามแบบที่ได้นำเสนอให้กับลูกค้าได้มากที่สุด”
เทียบวัสดุด้วยการจัดบอร์ด
BuGaan Krungthep Kreetha
การเทียบวัสดุของสตูดิโอในโปรเจกต์นี้จะจัดวัสดุลงบนบอร์ด และทำการติดสติ๊กเกอร์ที่ระบุโค้ดให้เข้ากันใจกันเองระหว่าง ผู้ออกแบบ เจ้าของโครงการ และผู้รับเหมา โดยจะระบุชื่อย่อ ลำดับเบอร์ ตำแหน่งที่ใช้ รุ่น ขนาด และผิวสัมผัส ซึ่งแบ่งโค้ดย่อออกได้ดังนี้
1.ST ย่อมาจาก Stone
2.CT ย่อมาจาก Ceramic tile
3.SW ย่อมาจาก Stonewash
4.MT ย่อมาจาก Mosaic tile
5.SS ย่อมาจาก Stainless Steel
6.AL ย่อมาจากAluminum
โดยในบอร์ดจะเรียงตามเบอร์ เช่น CT01 CT2 เรียงเป็นแนวนอนเพื่อเปรียบเทียบวัสดุได้หลายผิวสัมผัส
ทดลองวัสดุก่อนใช้งานจริง
หากไม่มั่นใจว่าวัสดุที่คัดเลือกไว้ เมื่อไปติดตั้งจริงแล้วจะเป็นไปตามไว้ที่จินตนาการไว้หรือไม่ ให้ผู้รับเหมา หรือนักออกแบบเอง สร้างโมเดลที่ติดตั้งวัสดุเหมือนจริงแล้วนำไปวางไว้ที่ไซต์ก่อสร้าง ให้ผ่านแดด และฝน ตามระยะเวลาที่ต้องการ เพื่อดูเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงทดสอบความคงทนด้วย
“ช่วงการเริ่มต้นของสตูดิโอเอง เราจะอัพเดทวัสดุใหม่ๆ ด้วยการไปที่โชว์รูมวัสดุต่างๆ และขอตัวอย่างมาดู และสั่งซื้อ แต่ถ้ามีเวลาจำกัด และไม่มั่นใจในวัสดุชิ้นนั้น ให้ขอรูปภาพที่เคยติดตั้งในโครงการอื่น หรือตำแหน่งสถานที่ที่ติดตั้ง ให้เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ในทันที”
“วิชาชีพภูมิสถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยประสบการณ์เราจะเริ่มรู้จักวัสดุขึ้นเรื่อยๆ จนเรามีสต็อกวัสดุ คราวนี้เราจะหยิบใช้ก็ง่ายมากขึ้นเพราะเรารู้จักมันในระดับหนึ่งแล้ว เช่น แกรนิตทัมเบิลสโตนต้องเอาไปทำให้ขอบมนจึงทำการติดตั้ง หรือกระเบื้องจะเน้นการใช้งานในพื้นที่ใหญ่ที่มีงบจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลกับการออกแบบทั้งหมด”
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.