
หนึ่งในความกังวลใจของสถาปนิกมือใหม่คือเรื่องของการเลือกใช้วัสดุ เนื่องจากวัสดุในทุกวันนี้มีให้เลือกหลากหลายผิวสัมผัส สีสัน เกรด รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ เมื่อต้องเลือกวัสดุมาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม หลายครั้งจึงเกิดความไม่มั่นใจ ว่าวัสดุแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ เหมาะสม และเมื่อก่อสร้างแล้ววัสดุเหล่านั้นจะออกมาเหมือนกับโมเดล 3 มิติมากน้อยแค่ไหน
วันนี้ Materials Room จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณ ศราวุธ จันทรแสงอร่าม จาก Dersyn Studio ที่คว่ำหวอดอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมมากว่า 18 ปี ได้มาเล่าถึงแนวความคิดในการเลือกใช้วัสดุสำหรับออกแบบสถาปัตยกรรมในแต่ละบริบท ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเภทของวัสดุ สีสัน ผิวสัมผัส และเกรด ที่จะทำให้สถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้ออกมาสมบูรณ์ได้มากที่สุด
Dersyn Studio ออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสถาพแวดล้อม บริบท และการใช้งาน
Dersyn Studio ได้ก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลา 18 ปีแล้ว โดยความหมายของชื่อออฟฟิศได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า Design + Synchronization ที่สื่อสารถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับบริบท และเหนือความคาดหมาย ส่วนคำว่า Studio จะเน้นไปที่การทำงานเป็นทีมผ่านการระดมสมอง คิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จัก Dersyn Studio ผ่านผลงานสถาปัตยกรรมประเภท รีสอร์ท โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และบ้าน
“การออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงท่องเที่ยว และ สถาปัตยกรรมเชิงพานิชย์ จะต้องเน้นไปทางด้านประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราเข้าไปใช้งานเพียงจับใจเฉพาะบางเวลาเท่านั้น แต่การออกแบบบ้านพักอาศัย จำเป็นจะต้องเน้นไปที่ตัวตนของเจ้าของบ้าน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการออกแบบสถาปัตยกรรมทุกประเภทจะอยู่ในหลักการออกแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ในเชิงกายภาพจะมีการใช้ความหมาย และรูปแบบของอาคารที่แตกต่างกันออกไป”
เลือกใช้วัสดุให้ตอบโจทย์กับบริบท และเหมาะสมกับประเภทอาคาร
การออกแบบอาคารทุกประเภทสิ่งที่สื่อความหมายได้เป็นอย่างดีก็คือเรื่องของวัสดุ ซึ่งสถาปนิกใช้แนวความคิดมาจากคำว่า Synchronization ที่แปลว่าทำให้สอดคล้องกัน จึงเลือกหยิบเอาวัสดุในบริบทนั้นๆ นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความหมาย ประสบการณ์ และดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบริบท โดยส่วนใหญ่วัสดุเหล่านี้จะนำมาออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงท่องเที่ยว และเชิงพานิชย์ ขณะเดียวกันก็มีการนำวัสดุในท้องตลาดที่มีอยู่หลากหลายประเภทนำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกับบ้านพักอาศัย ที่ต้องใช้วัสดุในท้องตลาดเป็นส่วนใหญ่ เพราะตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้มากกว่า เช่น หาซื้อได้ง่าย ง่ายต่อการดูแลรักษา และสอดคล้องไปสภาพแวดล้อมและบริบทอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้สถาปัตยกรรมเกิดความยั่งยืนได้มากขึ้น
“ยกตัวอย่างการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงท่องเที่ยวในธรรมชาติอย่าง Z9 resort ที่เราเคยออกแบบไว้ ซึ่งในบริบทนั้นมีไม้ไผ่อยู่เป็นจำนวนมาก และคนในพื้นที่ก็ใช้ประโยชน์จากไผ่เป็นอยู่ ซึ่งพวกเขาจะเข้าใจเรื่องของไม้ไผ่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการ นำมาทำโครงสร้าง หรือตกแต่งอาคาร พวกเขาจะรู้ว่าต้องเลือกตัดไม้ไผ่ในเดือนไหนถึงจะเหมาะสม และเมื่อตัดแล้วต้องผ่านการอัดน้ำยาไม้ไผ่ด้วยระบบสุญญากาศ หรือ Vacuum treatment เพื่อป้องการปลวกและมอด แน่นอนว่าไม้ไผ่ไม่ได้เป็นวัสดุถาวร ต้องมีการบำรุงรักษาทุกๆ ปี เพราะฉะนั้นเมื่อคนในบริบท และเจ้าของเข้าใจ ก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้วัสดุเหล่านี้ แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่อื่นๆ สถาปนิกเองต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าวัสดุเหล่านี้ คนใช้คือใคร ใช้อย่างไร ใช้ในพื้นที่แบบไหน และใครเป็นผู้ดูแล เพราะกระบวนการต่างๆ ต้องใช้ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญจึงจะไม่เกิดปัญหาในอนาคต”
“แต่ถ้าหากเป็นบ้านพักอาศัยเราต้องใช้วัสดุที่เข้ากับสภาพแวดล้อม หาได้ง่าย ใช้งานได้สะดวก และง่ายกับการดูแลรักษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และคงทนมากที่สุด ยกตัวอย่างการออกแบบบ้านโปรเจกต์หนึ่งในต่างจังหวัด ที่แนวความคิดส่งผลให้ต้องใช้ไม้ทั้งหมด แต่ถ้าเราใช้ไม้จริงทั้งหมดอนาคตจะต้องเสียค่าบำรุงรักษาสูงมาก เราจึงต้องใช้วัสดุทดแทนไม้เข้ามาผนวกด้วย เช่นการใช้เสาเป็นไม้สักจริง และใช้ไม้เทียมทำเป็นไม้ระแนง ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียมลายไม้ ซึ่งเราต้องใช้วัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อให้บ้านเกิดความคงทน และบำรุงรักษาต่ำที่สุด”
ข้อแตกต่างวัสดุตามท้องตลาด และวัสดุรัฐวิสาหกิจชุมชน
วัสดุในท้องตลาดจะใช้วัตถุดิบหลากหลายรูปแบบที่ผ่านกระบวนให้เกิดความคงทน และแข็งแรง หาซื้อได้ง่าย สามารถให้ผู้รับเหมาติดตั้งได้เลย ซึ่งจะเหมาะสมกับบ้าน หรือ อาคารที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน เลือกเฉดสีได้ แต่ถ้าเป็นวัสดุจากรัฐวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุจากการเกษตรกรรม เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งวัสดุเหล่านี้มากจากธรรมชาติ ไม่สามารถเลือกโทนสีได้ ต้องผ่านกระบวนการการคัดเลือก การเสริมด้วยน้ำยาเพื่อให้เกิดความคงทน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและเป็นวัสดุอยู่ได้ไม่คงทนถาวร การติดตั้งอาจจะต้องใช้ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน หรือนำการติดตั้งไปพัฒนาต่อ ซึ่งผู้รับเหมาทั่วไปอาจจะไม่คุ้นเคย และเกิดปัญหาตามมาได้ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้วัสดุจะขึ้นอยู่กับแนวความคิดในการออกแบบ ความเหมาะสม บรรยากาศ ความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อสาร รวมไปถึงการคำนึงถึงบริบททางสถาพแวดล้อมนั้นๆ ด้วย
“เราเคยเจอการก่อสร้างที่ต้องใช้น้ำบาดาลในการผสมคอนกรีต ซึ่งในน้ำจะมีหินปูนตกตะกอนอยู่ เราจึงจำเป็นต้องทำการพักน้ำก่อน แล้วค่อยนำมาผสมคอนกรีตสำหรับในการก่อสร้าง หรือ น้ำที่ใช้มีความกร่อยเมื่อนำมาผสมคอนกรีตสำหรับการก่อสร้างจะทำให้เกิดคราบออกไซด์สีขาวกับวัสดุกระเบื้องต่างๆ จนเกิดความไม่สวยงาม ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากไม่มีความรู้ทางด้านสภาพแวดล้อม หรือไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ก็จะมีปัญหาตามมาในอนาคตได้”
สร้าง Mood Board Material ให้สถาปนิก ผู้รับเหมา และเจ้าของโครงการเข้าใจตรงกัน
การจัด Mood Board Material จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่ ช่วงการพัฒนาการออกแบบ สถาปนิกจะทำการขอตัวอย่างวัสดุขนาดเล็กจากซัพพลายเออร์ของแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำมาจัดเรียงให้ได้เฉดสี ผิวสัมผัสตามแบบสามมิติที่ได้ออกแบบไว้มากที่สุด จากนั้นจึงทำการจัดส่งบอร์ดนี้ให้กับ ผู้รับเหมา และเจ้าของโครงการ รวมไปถึงสถาปนิกเองก็จะเก็บบอร์ดไว้หนึ่งชุดไว้สำหรับการออกแบบ
เมื่อถึงช่วงการเขียนแบบก่อสร้าง จึงทำการสั่งตัวอย่างแผ่นขนาดจริงเพื่อดูลวดลาย และทดลองกับแสงตามที่ได้ออกแบบไว้ หากเป็นงานอินทีเรียจะเพิ่มโทนสีของวัสดุขึ้น 1 หรือ ครึ่งหนึ่ง ของระดับที่เลือกไว้ เพื่อไม่ให้สีภายในดูอ่อนกว่าสีภายนอกที่โดนแสงแดดอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ถ้าเป็นภายในต้องทำการทดลองนำแสงตามที่ได้ออกแบบไว้ส่องลงไปที่วัสดุ เพื่อทดลองดูปรากฎการณ์ของลวดลาย แสง สี ที่เกิดขึ้นของวัสดุว่าเป็นตามที่ออกแบบไว้หรือไม่
หากเป็นวัสดุภายนอกอาคารให้นำไปทดลองกลางแสงแดดจริง เพื่อดูลวดลาย แสงสี และเฉดเงาเพราะแสงจากในบอร์ดอาจจะเกิดการหลอกตา เมื่อไปติดตั้งจริงอาจจะไม่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ เมื่อเป็นไปตามที่ต้องการแล้วจึงทำการสเปคเขียนลงไปในแบบก่อสร้าง
Mood Board Material ภายในคอนโดมิเนียมสีเอิร์ธโทน
ด้วยการออกแบบภายในห้องคอนโดมิเนียมมีแนวคิดทีต้องใช้สีเอิร์ธโทนเป็นหลัก ซึ่งขณะออกแบบสถาปนิกเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของโทนสี จึงได้เลือกหยิบสีของวัสดุลามิเนตไม้เทียม ทั้งโทนอ่อน และโทนเข้มมาวางประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อเทียบเคียงเฉดสี และโทนตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้ ยังนำวัสดุฝ้า และพื้น มาวางเทียบเคียงเพื่อให้เห็นโทนสีภาพรวมของห้องอีกด้วย จากนั้นจึงทำการแปะอักษรย่อลงไปบนวัสดุ เพื่อให้เข้าใจว่าจะนำวัสดุไปใช้งานในส่วนใด โดยที่ Dersyn Studio ได้สร้างโค้ดสำหรับทำความเข้าใจร่วมกันว่า FN คือเฟอร์นิเจอร์ FL คือพื้น C คือ ฝ้าเพดาน และ SK คือสกิมผนัง และ ทับหน้าคือฝาผนังเช่นเดียวกัน หากสร้าง Mood Board Material แล้วยังเกิดความไม่มั่นใจ ให้ผู้รับเหมาสร้างแบบจำลองขนาดจริงขึ้นมาแล้วนำมาทดลองกับแสงจริงเพื่อให้เห็นรายละเอียดได้มากยิ่งขึ้น
“เรามักจะไม่ใช้แผ่นลามิเนตไม้กับการติดตั้งฝ้าเพดานถ้าไม่จำเป็น เพราะเรื่องของน้ำหนักที่มาก และการยึดติดกาวที่มีอายุการใช้งาน เราจึงมักนำมาใช้ตกแต่งผนัง หรือ ตู้มากกว่า หรือ วัสดุใหม่อย่าง สโตนวีเนียร์ ที่อยู่บริเวณด้านบนขวาสุดของตัวบอร์ดที่สามารถนำไปติดตั้งผนัง ตู้ และประตูได้ เพราะมีน้ำหนักเบา ซึ่งดีกว่า ลามิเนตลายหินที่ไม่สามารถใช้มือสัมผัสได้ นอกจากนี้ยังมีสีทับหน้าสีเทาเข้มด้านขวาล่างของบอร์ดที่ทำจากวัสดุกระดาษเคลือบเมลามีน ซึ่งทำให้เวลาเรานำวัสดุเข้ามุมต่างๆ สามารถเก็บสี และดูแลรักษาได้ง่าย”
Mood Board Material ภายในร้านอาหาร Skyline ที่ทดลองวัสดุให้ได้ประสบกาณ์ใหม่
Skyline เป็นร้านอาหารและคาเฟ่แบบ ไฟน์ไดนิ่ง หรือภัตราคารแบบพรีเมียม ด้วยแนวคิดที่มาจากแมงกะพรุนน้ำจืด และกำลังจะก่อสร้างในเร็วๆ นี้ Mood Board Material จึงจัดวางด้วยวัสดุที่จะใช้ติดตั้งจริง โดยจะให้โทนสีขาว และสีน้ำเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย หินพ่นไล่เฉดสีน้ำเงินสำหรับติดตั้งผนัง ให้ผิวสัมผัสที่หยาบ และเว้นร่องพร้อมผสมหินขนาดเล็กเรืองแสงลงไปในบางส่วนของวัสดุที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ใต้ผิวน้ำ วางเทียบกับวัสดุปูท๊อปโต๊ะลามิเนตลายหินขัดที่ให้น้ำหนักเบาและดูเป็นโทนสีเดียวกัน ส่งผลทำให้ลวดลายของเคาน์เตอร์ร้านอาคารเป็นวัสดุหินสังเคราะห์ลายจุดแบบหินขัดที่วางจัดวางไว้บริเวณตรงกลางบอร์ด นอกจากนี้ยังมีวัสดุผนังที่ให้ลวดลายคล้ายคลึงกับวัสดุหินพ่นไล่เฉดสีน้ำเงินเพื่อเพิ่มความนิ่งสงบมากยิ่งขึ้น ตามด้วยพื้นลามิเนตลายไม้ และผ้าเฉดสีขาว น้ำเงินเข้ม และฟ้า รวมไปถึงไม้บนสุด สำหรับใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
“เราอยากทดลองสร้างมิติ และประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมให้มากขึ้นด้วยการใช้วัสดุ เราจึงผสมหินเรืองแสงใส่ลงไปบนผนังบางส่วนเพื่อให้เกิดแสงระยิบระยับ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสมัยทำวิทยานิพนธ์ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพื้นที่เป็นน้ำไปแล้วถึง 90 % โดยมีศักยภาพทางด้านความงามคือการสะท้อนของน้ำ เราจึงนำการสะท้อนนี้มาเล่นกับผนังให้เป็นไฮไลท์ ด้วยการทดลองหยิบวัสดุปูนตำมาผสมกับกำแพงคอนกรีต เพื่อให้เกิดการสะท้อนแสงทั้งกลางวัน และกลางคืนดูน่าสนใจเหมือนกับวัด”
“นอกจากนี้เรายังเคยทดลองวัสดุในโปรเจกต์อื่นๆ ด้วยเช่น เราเคยออกแบบสถานบันเทิงที่มีงบมีจำกัด เราจึงไปหยิบเอาขวดเครื่องดื่มสีเขียวใส มาทุบให้แตกเหมือนที่เราเคยเล่นในสมัยเด็ก แล้วนำหินขัดมาใส่ จากนั้นจึงทำการขัดผิวให้เรียบเนียน หรือ การออกแบบวัดที่มีดินเหลือจากการขุด จึงนำมาใช้ทำเป็นผนัง เพราะดินมีความเย็นในตัว และสร้างให้แข็งแรงได้ จะเห็นได้ว่าการใช้วัสดุมันเป็นการทดลองจากประสบการณ์ที่เราเคยเห็น เคยทำ แล้วนำมาบูรณาการใหม่ มันไม่ได้มียุคสมัย เพียงแค่เราต้องหยิบใช้ให้เหมาะสมกับอาคารแต่ละประเภท และบริบทเท่านั้น”
Mood Board Material ของบ้าน PMK HOUSE สไตล์ Chinese Modern
ด้วย PMK HOUSE เป็นสไตล์ Chinese Modern และอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณน้ำกร่อย ด้วยสองเหตุผลนี้จึงเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นหิน หรือให้ความแข็งแรงเหมือนหิน เนื่องจากสถาปนิกต้องการออกแบบให้อาคารมีช่องเปิด จนเกิดแสง และเงา สไตล์สถาปัตยกรรมจีน แถมวัสดุเหล่าหินยังมีความแข็งแรงทนทานกับน้ำกร่อยอีกด้วย
การจัดวาง Mood Board Material จึงเน้นไปทีการใช้สีพ่นผิวสัมผัสเป็นหลัก โดยเลือกสีเทาเฉดสีฟ้าอ่อน และเฉดเทาหลากหลายโทนเพื่อนำมาเปรียบเทียบ และใช้หลังคาแบบลอนกาบกล้วยผสมกับเมทัลชัทเคลือบอลูมิเนียมสีเทา เพื่อไม่ให้บ้านเกิดความร้อน บริเวณตรงกลางด้านบนสุดของบอร์ดเป็นวัสดุติดตั้งผนังหินที่ให้ความรู้สึกเหมือนวัสดุก่อแบบอิฐ ในส่วนถัดมาคือวัสดุอลูมิเนียมไม้ สำหรับติดตั้งผนัง และพื้นพอร์ซเลนที่ให้ค่า R 11 สำหรับกันลื่น นอกจากนี้ยังใช้หิน Cobble Stone สำหรับปูที่จอดรถ และนำทรายล้างมาใช้บริเวณตีนเสาเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บงานก่อสร้าง และการทำความสะอาด
“ต้องเข้าใจว่าการจัดเลือกวัสดุของสถาปัตยกรรมคือกำหนดในวันนี้ หากจัดไว้แล้วและต้องการก่อสร้าง วัสดุที่ได้คัดเลือกไว้อาจจะไม่มีจำหน่ายแล้วก็ได้ จะแตกต่างจะการออกแบบภายในที่มีระยะการก่อสร้างไวกว่า และบางส่วนสามารถประกอบได้จากโรงงานซึ่งสามารถนำมาติดตั้งได้เลย”
จัดสรรกลุ่มวัสดุตามงบประมาณการก่อสร้าง
สถาปนิกได้ทำการยกตัวอย่างการจัดสรรกลุ่มวัสดุตามงบประมาณการก่อสร้าง เช่น ราคา 5-10 ล้านบาท และราคา 10-30 ล้านบาท จะใช้วัสดุ และทีมผู้รับเหมาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ง่ายต่อการบริหารวัสดุ และการออกแบบ เพราะในการใช้วัสดุในการติดตั้งไปบนสถาปัตยกรรม ไม่ได้มีเพียงแค่วัสดุเท่านั้น แต่ยังมีวัสดุยึดติด รวมไปถึงการชุบ และการเคลือบต่างๆ ที่จะส่งมีผลกับราคาทั้งหมดอีกด้วย
“วัสดุอาจจะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน แต่คุณภาพการชุบการเคลือบอาจจะแตกต่างกัน บางแบรนด์มีสี และผิวสัมผัสเดียวกันแต่มีให้เลือกถึง 9 เกรดคุณภาพ อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมที่ดีเกิดขึ้นได้จากการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่ วัสดุราคาถูกก็สามารถสร้างทำให้สวยงาม และแข็งแรงคงทนได้ และที่สำคัญวัสดุนั้นจะต้องปลอดสารพิษ เช่น สารฟอมาลีไฮด์ หรือสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกรณรงค์มานานกว่า 20 ปีแล้ว”
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.