5 นวัตกรรมวัสดุปูพื้นถนนที่ช่วยระบายน้ำให้กับเมืองได้มากขึ้น

ด้วยปริมาณฝนที่มากในปีนี้ ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ได้เกิดน้ำท่วมขังและไม่สามารถระบายออกได้ทันท่วงที จึงทำให้เมืองกลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก และเกิดความเสียหายขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุเหล่านี้เกิดจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งนักวิจัย และนักออกแบบเองต่างก็กำลังหาทางออกทั้งด้านการลดปล่อยมลพิษ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ

และหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นก็คือ วัสดุปูพื้นถนนที่ช่วยเพิ่มการระบายน้ำให้กับเมืองได้มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น คอนกรีตชนิดพรุน และยางมะตอยชนิดพรุน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ให้น้ำระบายลงท่อเพียงเท่านั้น แต่ทำให้น้ำซึมลงดินได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยที่วัสดุเหล่านี้มีจำหน่ายอยู่จริงทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

คอนกรีตพรุนชนิดซึมน้ำชนิดเท

คอนกรีตพรุนซีแพค (CPAC Porous Concrete) คือ คอนกรีตที่มีความพรุนสูงสามารถระบายน้ำได้ดี เพราะเนื้อคอนกรีต Cement paste จะทำหน้าที่ประสานคอนกรีตแต่ละชั้นให้ติดกัน ขณะเดียวกันก่อเพิ่มช่องว่างภายในคอนกรีตให้ต่อเนื่องกัน (Interconnection Void) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 2 – 8 มม. ที่มีรูพรุนมากกว่าคอนกรีตแบบทั่วไป ทำให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งคอนกรีตพรุนซีแพคมีกำลังอัดประมาณ 140 กก./ตร.ซม. (ทรงกระบอก) เหมาะสำหรับการก่อสร้างหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น พื้นลานจอดรถ, ลานบริเวณรอบที่พักอาศัย, พื้นบริเวณรอบสระว่ายน้ำ, ถนนในหมู่บ้าน และถนนภายในสนามกอล์ฟ เป็นต้น ด้วยการระบายน้ำอยู่ตลอดวัสดุชนิดนี้จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบการอุดตันของตะกอนทุกเดือน และต้องทำความสะอาดด้วยเครื่องฉีดอัดน้ำแรงดันสูง ทุกๆ 2- 4 ปี เพื่อขจัดตะไคร้น้ำ 

วิธีการติดตั้ง  

1.ปรับชั้นดินเดิมด้วยการบดอัดให้แน่น 90-96% Standard Procto เพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัวจนทำให้คอนกรีตพรุนเสียหายได้

  1. ตามด้วยการปูหินปูน หรือกรวด ที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ขนาด 1″-3/4″ บดอัดให้มีความหนา150-300 มม. ผสมไปกับดินเดิม เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  2. การเทคอนกรีตไม่ควรเทเกินระยะ 90 ซม. เมื่อเทแล้วให้ทำการบดอัดโดยการใช้ลูกกลิ่งมาตรฐาน ACI 522 R ซึ่งช่วยให้คอนกรีตมีความสม่ำเสมอ และมีรูพรุนที่เหมาะสมต่อการระบายน้ำ

4.จากนั้นจึงคลุมด้วยฟิล์มพลาสติกเพื่อบ่มให้คอนกรีตมีความชื้น เนื่องจากคอนกรีตมีลักษณะแบบแห้ง จึงมีน้ำผสมอยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งจะต้องบ่มให้คอนกรีตสามารถเกิดปฏิกิริยาไฮเดรชั่นได้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้คอนกรีตไม่เกิดการหลุดร่อน และความเสียหายขึ้นในอนาคต

สำหรับใครที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และราคาได้ที่ https://www.cpacacademy.com/index.php?tpid=0145 โทร 02 555 5555

บล็อกพรุน (พอรัสบล็อก)

บล็อกพรุนตราช้างชนิดซึมน้ำ ขนาด 10 x 20 x 6 ซม. มีสีสันให้เลือกถึง 3 สี ได้แก่ สีเทา สีส้ม และสีเขียว คุณสมบัติบล็อกปูพื้นชนิดนี้จะมีช่องว่างขนาดเล็กต่อเนื่องกันทั่วทั้งเนื้อคอนกรีต ซึ่งมีมากกว่าบล็อกคอนกรีตแบบทั่วๆ ไป จึงทำให้เมื่อมีปริมาณน้ำฝากตกลงมา การระบายน้ำจึงทำได้อย่างรวดเร็วเพราะวัสดุมีอัตราการไหลผ่านของการซึมน้ำ 15 ลิตร/นาที/ตร.ม. และรับน้ำหนักได้ถึง 200-250 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร นอกจากนี้ยังทำให้พื้นที่บริเวณที่ติดตั้งไม่สะสมความร้อนเพราะมีช่องว่างระบายอากาศ และยังช่วยให้ต้นไม้บริเวณที่ติดตั้งดูดซึมน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย บล็อกพรุนนี้สามารถนำไปติดตั้งได้ทั้ง พื้นลานจอดรถ พื้นทางเท้า และลานบริเวณรอบที่พักอาศัย เป็นต้น หากเกิดความเสียหายสามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้

วิธีการติดตั้ง

  1. ทำการกำจัดขยะ และหญ้าออกและทำการเปิดหน้าดินให้ลึกประมาณ 10-15 ซม.
  2. บดอัดดินให้แน่น พร้อมปรับระดับให้เรียบสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ดินเกิดการทรุดตัว และเกิดความเสียหายต่อบล็อกในอนาคตได้
  3. จากนั้นจึงวางขอบคันหิน หรือขอบที่ได้การออกแบบไว้ เพื่อกำหนดขอบเขตและป้องกันการแยกตัวของแนวบล็อก
  4. ใช้ทรายหยาบเทปรับระดับอีกครั้งตามด้วยเครื่องตบอัดให้หนาประมาณ 3-4 ซม. ให้ทั่วบริเวณ
  5. เริ่มปูบล็อกจากมุมใดมุมหนึ่งของขอบ หรือจุดกึ่งกลาง (กรณีลายวงกลม) และ ต้องมีการคัดแนวเป็นระยะทุกๆ 10-15 ตร.ม. เพื่อให้เกิดความเนี้ยบ และตรงมากที่สุด
  6. เมื่อปูบล็อกเต็มพื้นที่แล้ว ให้โรยทรายหยาบทั่วบริเวณ เพื่อให้ทรายอุดช่องว่างระหว่างบล็อก จากนั้นจึงทำความสะอาดให้เรียบร้อย
  7. ลงน้ำยาเคลือบผิวบล็อก (น้ำยาประสานร่องทราย) ในบริเวณร่องบล็อกเพื่อให้ทรายและบล็อกยึดติดกัน และ ช่วยทำให้บล็อกมีความคงทนแข็งแรงมากขึ้นอีก

บล็อกพรุน (พอรัสบล็อก) จะมีราคาอยู่ที่ราคา 15 บาท/ก้อน (สีเทา), ราคา 17 บาท/ก้อน (สีส้ม) ราคา 19 บาท/ก้อน (สีเขียว) โดยที่ 1 ตารางเมตรต้องใช้บล็อกทั้งหมด 50 ก้อน สำหรับใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scgbuildingmaterials.com/th/products/

เซรามิกเชิงนิเวศน์ชนิดซึมน้ำ

แผ่นปูพื้นเซรามิกเชิงนิเวศน์ชนิดซึมน้ำ โดยนำดินมาผ่านกระบวนการให้เกิดช่องว่างขนาดเล็กภายในก้อน และนำไปเผาในอุณหภูมิสูงและความดันสูง ซึ่งทำให้อิฐมีความแข็งแรง และยังสามารถซึมผ่านน้ำได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันช่วยให้พื้นที่ไม่เกิดความร้อนอีกด้วย นอกจากนี้ตัววัสดุยังสามารถดูดซับเสียงจากรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมา หากใช้งานไปในระยะเวลานานเมื่อเกิดความเสียหาย หรือหมดอายุการใช้งานแล้วยังสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย  

วิธีการติดตั้ง

  1. กำจัดหญ้า และปรับหน้าดินให้เรียบเนียน
  2. เททราย และเกลี่ยปรับระดับโดยใช้เครื่อง เพื่อให้อัดแน่นเสมอกันทั้งหมด
  3. ใช้แผ่นกันทรายวางทับลงไป จากนั้นจึงเติมทรายลงไปอีกครั้ง และบดอัด
  4. จากนั้นจึงวางขอบคันหิน หรือขอบที่ได้การออกแบบไว้ เพื่อกำหนดขอบเขตและป้องกันการแยกตัวของแนวบล็อก
  5. ปูบล็อกด้วยการใช้เอ็นให้เป็นแนวก่อ เพื่อให้ระยะมีความเที่ยงตรง และเนี้ยบมากขึ้น
  6. เติมทราย กวาดและบดอัดอีกครั้ง เพื่อให้ก้อนบล็อกแน่นมากขึ้น

เซรามิกเชิงนิเวศน์ชนิดซึมน้ำ มีขนาดให้เลือก ตั้งแต่ 200 x 200 มม. และ 100 x 200 มม. และมีสีสันให้เลือกคือ สีเหลือง สีดำ สีคอนกรีต และสีน้ำตาล สามารถดูสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และราคาได้ที่ https://thai.insulationrefractory.com/sale-10792718-ecological-ceramics-water-permeable-brick-permeable-paving-products.html

ยางมะตอยชนิดซึมน้ำ

ยางมะตอยชนิดซึมน้ำ หรือ Open-Graded Friction Course (OGFC) ที่ประกอบไปด้วย หินมวลหยาบ และหินมวลละเอียด ผสมเข้ากับ โพลิเมอร์โมดิฟายด์แอสฟัลต์ซีเมนต์ จึงทำให้มีรูพรุนสูงทำให้ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยการลื่นไถลของรถยนต์ที่เกิดจากละอองน้ำได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยลดเสียงที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างยางรถยนต์ และถนน ซึ่งช่วยลดมลภาวะทางเสียงโดยรอบได้ดีอีกด้วย

การติดตั้ง

เริ่มต้นควรทุบพื้นทางเดิมที่ซึมน้ำไม่ได้ให้ถึงชั้นดินเดิม และบดอัดดิน และทรายให้มีความสม่ำเสมอเพื่อปรับระดับ จากนั้นจึงเทยางมะตอยชนิดซึมน้ำลงไปขั้นที่ 1 โดยใช้ปริมาณการใช้โมดิฟายด์แอสฟัลท์อิมัลชันปริมาณ 0.4-0.8 ลิตรต่อตารางเมตร และเทยางมะตอยเป็นชั้นที่ 2 เพื่อความแข็งแรงมากขึ้น ตามด้วยการบดอัดสูงเพื่อให้ยางมะตอยเซ็ทตัวภายใน 7 วัน 

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และราคาได้ที่ http://www.zolaasphalt.co.th/porous-asphalt/

วัสดุคอนกรีตรีไซเคิลที่น้ำซึมผ่านได้

AquiPor ได้ผลิตวัสดุ Permeable Hard Surface Material หรือวัสดุที่ให้ความแข็งแรงแบบเดียวกับคอนกรีต ที่ผลิตจากการนำคอนกรีตมารีไซเคิลใหม่ และผ่านกระบวนการผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ ซึ่งช่วยให้สามารถดูดซึมน้ำได้ถึง 25 นิ้ว (ประมาณน่องขา)  และกรองมลพิษอันตรายที่มากับน้ำ และอนุภาคที่เป็นปัญหาของน้ำจากการเกิดพายุได้ ทั้งนี้ยังช่วยลดการอุดตันจากตะกอน เศษหิน ซากขยะ ซากแขวนลอยต่างๆ เนื่องจากความพรุนระดับนาโนวัด 1-5 ไมครอน วัสดุชนิดนี้ให้ความแข็งแรงและทนทานกว่าคอนกรีตแบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ 8,000-10,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

การติดตั้ง

1.กำจัดหญ้า และปรับหน้าดินให้เรียบเนียน

2.ใช้เครื่องอัดดินเพื่อให้ดินอัดแน่นเสมอกันทั้งหมด 

3.ใช้ขอบตกแต่งเพื่อกำหนดขอบเขตและป้องกันการแยกตัวของอิฐเมื่อติดตั้งไปแล้ว

4.ใช้ทรายหยาบปรับระดับประมาณ 3 – 4 ซม. อีกหนึ่งชั้น

5.ทำการปูอิฐตามพื้นที่ที่กำหนดทั้งหมด จากนั้นจึงใช้ทรายเทลงไปบนอิฐเพื่อปิดช่องว่างระหว่างอิฐให้ยึดติดเกาะกัน

วัสดุตัวนี้พึ่งจะเปิดตัวได้ไม่นานมานี้ สำหรับใครที่สนใจก็สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และราคาได้ที่ https://aquipor.com/

ถึงแม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะเข้ามาช่วยดูดซึมปริมาณน้ำให้ลดลงได้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น หากการตัดไม้ทำลายป่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูงอยู่ ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมาก จนเกิดน้ำท่วม และภัยพิบัติอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดยหากวิกฤตเหล่านี้ยังก่อตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นวัตกรรมใดๆ ก็อาจจะไม่สามารถยับยั้งภัยพิบัติเหล่านี้ได้เลย  

More MATERIALS