
ใช้ ‘ไม้อัด’ มาออกแบบอาคาร หลายๆ คนคงจะเมินหน้าหนีและเริ่มตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน เพราะตัวเนื้อไม้ที่บาง แถมไม่ทนแดดทนฝน และยังเป็นอาหารรสเลิศให้กับมอดปลวกต่างๆ ได้ง่าย
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ Baan Brain Clinic คลินิกอายุรกรรมด้านสมองและระบบประสาทในจังหวัดเชียงราย ที่ 1922 architect ออกแบบด้วยการใช้ไม้อัดแทนไม้จริง เพียงแค่ใช้การออกแบบเหมาะสม เพื่อให้ไม้อัดอยู่ได้คงทน และช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้คลินิกดูผ่อนคลายเสมือนกับการอยู่บ้าน
ออกแบบคลินิกให้ผ่อนคลายเสมือนกับอยู่บ้าน
การออกแบบคลินิกครั้งนี้ได้รับโจทย์จากนพ.วัชระ รัตนชัยสิทธิ์ ที่ต้องการให้คนไข้ที่มา รู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน ไม่เหมือนกับคลินิกทั่วไป ซึ่งโจทย์มีคล้ายคลึงกับโรงพยาบาลราชพฤกษ์ในจังหวัดขอนแก่น ที่สถาปนิกเป็นหนึ่งในทีมออกแบบ สถาปนิกจึงวางแนวคิดให้คลินิกเสมือนบ้าน โดยการนำธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงได้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่ทาง visual อย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบให้ธรรมชาติไหลเข้ามา วัสดุไม้จึงมีความสำคัญในการออกแบบคลินิก แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดสถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้อัด และใช้ไม้จริงในส่วนเล็กๆ ในรายละเอียด
คลินิกนี้ฝังตัวอยู่ในตึกแถวหัวมุม ที่มีชั้นหนึ่ง และชั้นลอย ขนาด 70 ตร.ม สถาปนิกวางผังภายในให้ด้านหน้ามีเคาน์เตอร์ พร้อมที่นั่งคอยเหมือนอยู่บ้าน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งวางฟังก์ชันเป็นคอริดอร์ยาวเพื่อให้อากาศ และแสงจากธรรมชาติเข้าไปทั่วถึงได้จนไปถึงชั้นลอย โดยสถาปนิกได้ติดตั้งประตู บานหน้าต่างกระจก บานเปิดกระทุ่งมุ่งลวด ช่องแสงด้านบนของอาคาร และบานเปิดด้านขาวสำหรับเซอร์วิส ขนย้ายสิ่งของต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นคลินิกที่ไม่ช่องเปิดจำนวนมาก ที่ไม่ว่าช่วงเวลาใดแสงและลมก็เข้ามาได้ตลอดทั้งวัน
งบประมาณจำกัดไม้อัดจึงเป็นวัสดุหลักของคลินิก
ภายในสถาปนิกเลือกใช้ไม้อัดเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักของอาคาร โดยการใช้ไม้อัดแบบดัดโค้งยี่ห้อเข็มทิศ มาเป็นผนัง ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่มีกาว VOC ที่อาจจะทำให้เกิดมลพิษขึ้นได้ ในส่วนผนังด้านบนกรุด้วยยิปซั่มบอร์ด SCG เสริมด้วยคิ้วไม้เนื้ออัดโครงเฟอร์นิเจอร์ทาทับด้วยน้ำยาถนอมเนื้อไม้ เชื่อมให้ระหว่างสองวัสดุดูกลมกลืนกัน เพื่อเพิ่มแสงให้ภายในอาคารยังติดตั้งบล็อกแก้วแบรนด์ช้างแก้ว วางคู่กับกระจกธรรมดาขนาด 6 มิลลิเมตร ให้เห็นว่าแสงแดดทีผ่านสองช่องทางนี้ให้เฉดเงาที่ไม่เหมือนกัน แต่ยังคงความอบอุ่นไว้เหมือนเดิม ในส่วนพื้นกระเบื้องยางลายไม้ธรรมชาติ Rectango เพราะความนุ่มที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เมื่อถูกเหยียบย่ำบ่อยๆ กระเบื้องยางยังดูแลรักษาง่ายกว่าไม้อัด
บริเวณด้านซ้ายออกแบบให้ดับเบิ้ลผนังออกมา ให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นชั้นวางของ และเป็นหิ้งพระในชั้นบนสุด โดยใช้ผนังยิปซัมบอร์ด SCG และใช้ไม้อัดขัดเรียบ E0 ยี่ห้อเข็มทิศ ทาทับด้วยน้ำยาถนอมเนื้อไม้ เป็นโครงสร้างและปิดทับด้วยไม้จริงทาทับด้วยน้ำยาถนอมเนื้อไม้ ทั้งนี้ยังใช้ไม้จริงในส่วนด้านล่างสุดของผนังเพื่อให้การทำความสะอาดเป็นได้อย่างง่ายดาย
การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของคลินิกให้มีความผ่อนคลายสไตล์สิ่งสำคัญคือเรื่องของวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ และดูมีความผ่อนคลาย ด้านหน้าของคลินิกจึงต้อนรับด้วยทางลาดทรายล้าง และราวจับไม้สักจริงเพราะทนต่อแสงแดดและฝน ผนังด้านหน้าสามารถมองทะลุผ่านบานหน้าต่างกระจกหนา 6 มิลลิเมตร ที่ทำขอบอลูมิเนียม Euro profile ทำสีพาวแดรอ์โคดซาฮาร่าเสริมด้วยกระจกขอบไม้จริงเพื่อให้แสงสว่างและเปิดให้ลมผ่านเพื่อถ่ายเทอากาศ
เลือกเฟอร์นิเจอร์แบบที่ใช้ในบ้าน
วัสดุอลูมิเนียม ไม้อัด ไม้จริง ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ตรวจและพื้นที่หัตถกรรม แต่แตกต่างตรงที่หน้าต่างไม้เล็กๆ สำหรับสื่อสารกับพยาบาลในบริเวณเคาน์เตอร์ ระหว่างพื้นที่ตรวจและพื้นที่หัตถกรรมจะมีผ้าม่านสีเทาเข้มเพื่อใช้ปิดบังขณะทำการรักษา นอกจากนี้ยังใช้เฟอร์นิเจอร์เฉพาะพื้นที่หัตถกรรม ได้แก่เตียงเมลามีนลายไม้ พร้อมฟูกหนังสีน้ำตาล และส่วนพื้นที่ตรวจคุณหมอได้เลือกโต๊ะและเก้าอี้เองตามความชื่นชอบซึ่งเข้ากับการออกแบบของสถาปนิกได้อย่างลงตัว ไม่เพียงเท่านั้นสถาปนิกยังเพิ่มแสงไฟดวงกลมให้การตรวจรักษาเป็นได้สะดวกสบาย
ย้อนกลับมาสำรวจเฟอร์นิเจอร์ด้านหน้า สถาปนิกติดตั้งพัดลม Mr.ken รุ่น CAN WOOD DC เพื่อให้เป็นตัวช่วยให้อากาศถ่ายเท่ได้มากยิ่งขึ้น ใช้เคาน์เตอร์ขนาดเล็กที่ทำขึ้นจากแผ่นเมลามีน Panel Plus สีขาวเกรด E0 ผสมผสานเข้ากับไม้อัดโครงที่มักใช้เฟอร์นิเจอร์นำผนวกให้มีอัตลักษณ์เฉพาะคลินิกนี้เท่านั้น ในส่วนม้านั่งไม้ถูกสั่งทำขึ้นจากบ้านถวาย Pinthana ในจังหวัดเชียงใหม่ และยังมีโต๊ะกลมไม้ที่ทำจากขึ้นจากผู้รับเหมา และเก้าอี้ลอยตัวให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน
เข้าไม้ด้วยการบาก และการใช้สกรู
เสริมรายละเอียดเล็กๆ ไปที่คิ้วไม้จริงบริเวณหิ้งพระ สถาปนิกใช้วิธีการบากไม้ และนำไม้ทั้งสองส่วนมายึดติดกันให้เป็นรูปเครื่องหมายบวก ในบางส่วนได้เพิ่มการยิงสกรูเข้าไปเพื่อเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ ในการออกแบบ ซึ่งช่วยเสริมแข็งแรงได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“สำหรับงานนี้จะมีความยากตรงที่ต้องดัดไม้ให้โค้งที่หน้างาน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างสูง และด้วยศักยภาพของพวกเขาก็ทำให้เขาอยากเรียนรู้ และพัฒนาไม่พร้อมกับเรา โชคดีที่งานนี้ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรที่ซับซ้อนนัก จึงทำให้การก่อสร้างค่อนข้างราบรื่น”
สถาปนิก เชื่อ ‘ไม้’ คือวัสดุที่ยั่งยืน
“ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนที่สุด เพราะมันสามารถสร้าง และผลิตได้ในชั่วอายุคน ถ้าเราปลูก 30 – 60 ปี มันก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว เมื่อไม่ได้ใช้แล้วไม้ก็สามารถย่อยสลายไปเองได้ หากเทียบกับคอนกรีตที่ต้องระเบิดภูเขาที่ใช้เวลาไม่นาน แต่กว่าที่ภูเขาจะฟื้นฟูกลับมาสภาพเดิมได้ต้องใช้ระยะเวลาเป็นล้านปี ทำให้เราเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุรีไซเคิลได้เท่าที่จะทำได้ ถ้าเราใช้อย่างพอดีหรือเลือกใช้ให้ถูกที่ รวมไปถึงการป้องกันความชื้น และความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลวกกิน หรือแตกร้าวได้ สังเกตได้ว่าวัดไม้ในญี่ปุ่นอายุกว่า 1,000 ปี ยังสามารถอยู่ได้เพียงแค่เข้าใจวิธีการออกแบบ และการดูแลรักษา”
Client : Baan Brain Clinic
Interior Design : 1922 Architects
Lighting Design : Lundi Light Design
Contractor : Boondham
Photograph : tempography.arch
รายชื่อวัสดุทั้งหมด
ไม้อัดขัดเรียบ E0 ยี่ห้อเข็มทิศ
คิ้ว ราว หน้าต่างไม้จริง บ้านถวาย Pinthana จังหวัดเชียงใหม่
กระจกลามิเนตรขนาด 6 มิลลิเมตร
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.