Pearl Ceramic Façade สถาปัตยกรรมในปั๊มน้ำมันที่เชื่อมโยงกับท้องฟ้า และสะท้อนคุณค่าความเป็นเชียงใหม่

   “ปั๊มน้ำมัน” สถานที่เติมน้ำมันและจุดแวะพักเวลาขับรถทางไกลที่เราคุ้นเคย ซึ่งนอกจากพื้นที่เติมน้ำมันแล้ว หากเป็นปั๊มขนาดใหญ่เราจะพบกับอาคารที่อยู่ภายในปั๊มที่ภายในประกอบไปด้วย ห้องน้ำ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหารหรือแม้กระทั่งตู้เอทีเอ็ม ส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้มีลักษณะหน้าตาคล้ายๆกันเสียหมด แต่ปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่อำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้กลับพิเศษกว่าปั๊มอื่นๆ เพราะด้วยภาพความสวยงามของฟาสาดสีมุกที่ทำจากกระเบื้องเซรามิกปกคลุมอยู่บนอาคาร ฝีมือรีโนเวทของ “SHER MAKER” สตูดิโอสถาปนิกเชียงใหม่ ที่สร้างสรรค์จากการผสมผสานความรู้ การทดลอง และทักษะของผู้ผลิตเซรามิกในเชียงใหม่

   จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เกิดขึ้นจาก PTTOR บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ที่ดูแลเกี่ยวกับปั๊มน้ำมันทุกสาขาของปตท. มีไอเดียอยากปรับปรุงปั๊มน้ำมันเพื่อคืนสิ่งดีๆให้กับสังคม ซึ่งผู้รับหน้าที่รีโนเวทอย่าง SHER MAKER ได้ตีโจทย์ออกมาในรูปแบบของการสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ให้ฟาซาด โดยตัดสินใจเลือก ‘กระเบื้องเซรามิก’ ทั้งหมด 3500 ชิ้นเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ เพราะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนและเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่ของปั๊มที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ดี ซึ่ง คุณพัชรดา อินแปลง สถาปนิกจากSHER MAKER เริ่มออกแบบตั้งแต่ขนาดและรูปร่างของกระเบื้องเซรามิก ไปจนถึงทดลองทำงานร่วมกับสตูดิโอเซรามิกเชียงใหม่ถึง 3 สตูดิโอด้วยกัน ได้แก่ Chatchaiwat Pottery Studio, แม่ริมเซรามิก และ Sarapee Ceramics arts and designs

   หลังจากการทดลองขึ้นม็อกอัพรูปทรงของกระเบื้องเซรามิกในหลากหลายรูปแบบ ผลลัพธ์สุดท้ายก็ลงตัวที่รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสมีขนาด 30 x 30 เซนติเมตรต่อแผ่น มีส่วนโค้งเว้าเล็กน้อยเพื่อทำให้แสงธรรมชาติที่สะท้อนพื้นผิวกระเบื้องมีความนุ่มนวล และรบกวนสายตาผู้ขับขี่ในปั๊มน้ำมันน้อยที่สุด มีการลดทอนความหนาของตัววัสดุลงเพื่อให้มีน้ำหนักเบา และสามารถติดตั้งบนโครงสร้างเหล็กได้โดยมีเดือยเล็กๆตามแนวโครงคร่าว เป็นฐานรองรับกระเบื้องเซรามิกและล็อคความแข็งแรงเข้ากับโครงคร่าว

“บางครั้งสีฟ้าของท้องฟ้า ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นฉากหลังให้กับสถาปัตยกรรมเสมอไป

มันพูดบางอย่างนอกเหนือจากนั้นอีกด้วย”

   “บางครั้งสีฟ้าของท้องฟ้า ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นฉากหลังให้กับสถาปัตยกรรมเสมอไป
   มันพูดบางอย่างนอกเหนือจากนั้นอีกด้วย” สถาปนิกกำลังกล่าวถึงนิยามของท้องฟ้าที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับฟาสาดกระเบื้องเซรามิก ‘สีเคลือบมุก’ ซึ่งเหตุผลที่ตั้งใจเคลือบวัสดุฟาสาดทั้งหมดนี้ด้วยสีมุกนั้น เนื่องจากเป็นสีที่พื้นฐานมีสีขาวนวล เมื่อแสงธรรมชาติสะท้อนมากระทบก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสีท้องฟ้า ณ ช่วงเวลานั้นไปเรื่อยๆ เสมือนให้ท้องฟ้ามีส่วนร่วมในการออกแบบ

    เรื่องของระยะเวลาที่ใช้ในผลิตกระเบื้องเซรามิกค่อนข้างนานร่วมเดือนเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ เพราะด้วยขั้นตอนที่หลากหลาย จากการทำแม่แบบ หล่อตัวกระเบื้อง และรอตากจนแห้งเพื่อให้ความชื้นจากภายในกระเบื้องระเหยออกจนหมดจึงจะสามารถนำไปเผาได้ ซึ่งเมื่อเผาเสร็จในรอบแรกเสร็จสมบูรณ์จะได้ ’บิสกิต’ หรือกระเบื้องเนื้อสีส้ม และสุดท้ายนำไปผ่านกรรมวิธีในการเคลือบสีมุกต่อไป

   “กระเบื้องเซรามิกเป็นวัสดุแฮนคราฟท้องถิ่นของเชียงใหม่ มีช่างท้องถิ่นฝีมือดีอยู่หลากหลาย เราเองก็ผูกพันธ์ใกล้ชิดกับวัสดุนี้มานาน แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นในงานสถาปัตยกรรมปัจจุบัน เช่นเดียวกับการเคลือบกระเบื้องเซรามิกสีมุก ที่มักอยู่ผิดที่ผิดทาง หากมองเห็นความสวยงามของเนื้อแท้วัสดุ แล้วนำมาใช้ให้ถูกวิธี จริงๆมันสวยนะ” สถาปนิกกล่าวมาถึงตอนสุดท้ายของการออกแบบโปรเจกต์รีโนเวทปั๊มน้ำมันแห่งนี้ ด้วยการนำวัสดุท้องถิ่นอย่างกระเบื้องเซรามิกเคลือบมุกมาใช้ นอกจากจะสะท้อนอัตลักษณ์บางอย่างของพื้นที่ออกมาให้เห็นแล้ว อาจเป็นหนึ่งความเปลี่ยนแปลงมิติแห่งการมองเห็นคุณค่าสิ่งรอบตัวด้วย

Pearl Ceramic Façade
Location: สารภี, เชียงใหม่
Owner: PTTOR
Architect: คุณพัชรดา อินแปลงและธงชัย จันทร์สมัคร SHER MAKER
Photographs: คุณรุ่งกิจ เจริญวัฒน์

More MATERIALS

Discover more from Materials Room

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading