
‘ไม้ฮิโนกิ’ ราชาแห่งไม้ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มเป็นที่รู้จัก และนำมาใช้งานในการออกแบบในประเทศไทยกันมากยิ่งขึ้น ด้วยอิทธิพลทางความงาม และความเนี้ยบของตัวไม้ที่มักจะเห็นอยู่ในงานสถาปัตยกรรมชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น แต่แล้วก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้ว ‘ไม้สัก’ ราชาไม้ของประเทศไทย มีคุณสมบัติ ที่แตกต่าง หรือเทียบเท่ากับไม้ฮิโนกิมากน้อยแค่ไหน? วันนี้จึงอยากชวนทุกคนไปหาคำตอบกัน
รู้จัก ‘ฮิโนกิ’ ราชาไม้แห่งญี่ปุ่น
Hinoki Cypress หรือ ไม้ฮิโนกิ (Hinoki) เป็นไม้สนไซเปรสสายพันธุ์ญี่ปุ่น เนื้ออ่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตอนกลางในเขตอากาศหนาว ของประเทศญี่ปุ่น หรือสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป ใช้เวลาเจริญเติบโตประมาณ 50 – 60 ปี จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ โดยตัวไม้จะมีสีเหลืองอ่อน อมชมพู ลวดลายเป็นเส้นนอน และเส้นตรงสวยงาม จึงไม่เกิดการบิดตัว แต่จะมีเพียงแค่การหดตัวเท่านั้น
ไม้ฮิโนกิจะมีกลิ่นละมุนหอมน้ำมันในเนื้อไม้ หรือกลิ่นอโรมาเธอราพี ซึ่งช่วยบำบัดร่างกาย และจิตของมนุษย์ รวมไปถึงป้องกันปลวกและแมลงได้อีกด้วย จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมทาสารเคลือบทับลงไปบนเนื้อไม้ เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี ไม้จะเริ่มกลายเป็นสีเทาและค่อยๆ กลายเป็นสีน้ำตาลอมเทาให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ตัวไม้ยังมีจุดราสีดำที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของไม้ชนิดนี้อีกด้วย ในอดีตเหล่าจักรพรรดิ หรือโชกุน มักนิยมนำมาใช้สร้างปราสาท พระราชวัง วัดหลวง และศาลเจ้า ซึ่งเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
ราคานำเข้าโดยประมาณ
สำหรับราคาไม้ฮิโนกิไม่สามารถปลูกได้ในเขตประเทศไทย จึงต้องใช้วิธีนำเข้าเท่านั้น โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 1,900-5,500 บาท/ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดเต็มแผ่น หรือ อัด และประเภทของการติดตั้ง
ข้อควรระวัง
ในประเทศลาวเองก็มีไม้ไซเปรส หรือ เรียกกันว่า ไม้ฮิโนกิลาว เมื่อมองด้วยตาเปล่าอาจจะไม่แต่กต่างกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่มีกลิ่นหอม คุณสมบัติในการป้องปลวก และแมลงต่ำ และมีราคาที่ต่ำกว่า
รู้จัก ‘สัก’ ราชาไม้แห่งไทยแลนด์
Tectona grandis หรือ ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อน มีลวดลายสวยงาม มีทั้งสีน้ำตาลอ่อนและเข้ม (ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้) แข็งแรงทนทานต่อน้ำ พบได้ในป่าเบญจพรรณ และใช้เวลาในการเจริญเติบโตเต็มที่คือ 15 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ เพราะตัวไม้เมื่อโตเต็มที่จะมีสารเคมี O-cresyl methyl ether ในการป้องปลวกและแมลงได้ รวมไปถึงตัวไม้จะมีกลิ่นหอมจากน้ำมันอีกด้วย อย่างไรก็ตามตัวไม้จะมีการบิดและหดได้หากเป็นไม้ใช้งานใหม่ หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นมากๆ นอกจากนี้คนไทยยังนิยมเคลือบผิวไม้ด้วยน้ำยาเคมีต่างๆ เพื่อให้ผิวไม้ดูมันเงาสีน้ำตาลเข้ม และทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้อย่างสะดวก ในอดีตมักนิยมใช้ไม้สักในการสร้างในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น วัด พระราชวัง บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และสะพานกันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันนี้ความนิยมเริ่มลดน้อยลงเพราะไม้มีราคาแพง และหาได้ยากมากขึ้น
ไม้สักมีหลายชนิด
1.ไม้สักทอง มีสีน้ำตาลทอง จะมีลักษณะเนื้อไม้ละเอียด และลวดลายน้อย
2.ไม้สักหยวก เนื้อไม้จะมีสีน้ำตาลอ่อน และลวดลายไม้อาจไม่เป็นโทนเดียวกันทั้งแผ่น
3.ไม้สักไข ลักษณะลำต้นอาจไม่ใหญ่เท่ากับไม้สักประเภทอื่น เนื้อไม้จะมีไขปน และมีสีน้ำตาลเข้ม
4.ไม้สักหิน เนื้อไม้จะแข็งแต่เปราะ มีสีน้ำตาลเข้ม และลวดลายไม่ซับซ้อนมาก
5.ไม้สักขี้ควาย สังเกตได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อตัดมาดูจะพบว่าเนื้อไม้มีสีเขียวแซมอยู่กับสีน้ำตาลซึ่งแตกต่างจากไม้ประเภทอื่นพอสมควร
ไม้สักที่ดีต้องเกรด A
1.ไม้เก่าจากเรือนโบราณ เป็นไม้เกรด A+ คุณภาพดีที่สุด มีอายุลำต้นเกินกว่า 20 ปี ผ่านการบิด และหดตัวมาแล้ว มีสีน้ำตาลลวดลายสวยงาม แถมยังมีคุณค่าในแง่ของสะสมอีกด้วย
2.ไม้สวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ส่วนใหญ่โครงการจะปลูกต้นไม้สักในพื้นที่สูง เนื้อไม้มีสีเข้มมีลวดลายสวยงาม เป็นไม้เกรด A ที่มีคุณภาพดีกว่าไม้ที่ปลูกกันบริเวณที่ราบทั่วไป
3.ไม้ที่ปลูกบนพื้นที่ทั่วไปมักจะเป็นไม้เกรดบี ลักษณะไม้มีการหดตัวได้ง่ายกว่าไม้เกรดเอ มีสีอ่อน ความหนาแน่นของเนื้อไม้จัดอยู่ในระดับปานกลาง ในปัจจุบันพบเจอได้มากในท้องตลาด
อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบดูให้มั่นใจก่อนเลือกซื้อ หรือควรมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้จำหน่ายที่ไว้ใจได้
ราคาปัจจุบันโดยประมาณ
ราคาเริ่มต้นตั้งแต่พันปลายๆ จนไปถึงหลักแสน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดเต็มแผ่น หรือ อัด ประเภทของการติดตั้ง หรือเป็นวิธีการรื้อไม้เก่าจากเรือนโบราณ
คุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันที่ สี กลิ่น และการบิดตัว
ข้อสังเกตอันดับแรกคือไม้ฮิโนกิจะใช้เวลาในการเจริญโตมากกว่าไม้สักของไทยอย่างชัดเจน และลายของไม้สักมีหลายชนิดให้เลือกสรรมากกว่า แต่ไม้ฮิโนกิจะมีสีที่ดูอ่อนกว่า บางชิ้นมีเชื้อราสีดำที่ไม่ทำอันตราย แต่เป็นสเน่ห์ของตัวไม้ และยังมีกลิ่นหอมเป็นอัตลักษณ์มากกว่าไม้สักของไทย จนสามารถสกัดน้ำมันออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา จึงเป็นที่มาว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นจึงไม่นิยมเคลือบสารเคมีเหมือนกับประเทศไทย
ในส่วนของการใช้งาน ไม้ฮิโนกิมีคุณสมบัติที่ไม่บิดตัว แต่ไม้สักยังคงบิดตัวอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้น และอายุของไม้ ซึ่งในประเทศไทยมีความชื้นสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นอาจจะเปรียบเทียบกันได้ค่อนข้างยาก
ในส่วนของราคา ไม้สักดูจะมีราคาที่ผันผวนมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายเป็นหลัก หากเทียบกับไม้ฮิโนกิยังสามารถคาดเดาราคาได้ง่ายกว่า
คุณสมบัติของไม้ทั้งสองชนิด นี้ถ้าเทียบในเกรดระดับคุณภาพ ก็จะมีความคงทน แข็งแรง ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก แถมยังกันปลวก และแมลง ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของไม้ทั้งสองชนิดนี้
แล้วทำไม้ฮิโนกิจึงดูได้เปรียบกว่า ?
คนญี่ปุ่นนิยมปลูกไม้ฮิโนกิไว้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขาเข้าใจถึงกลไกของธรรมชาติ เมื่อใช้งานไม้ในระยะเวลานานจะมีการเสื่อมสภาพลง หากจะตัดไม้มาใช้งานในหนใด พวกเขาก็จะทำการปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ตามจำนวนต้นที่ถูกตัดทิ้งไป พอถึงเวลาบูรณะซ่อมแซมอาคารอีกครั้ง ต้นไม้ฮิโนกิที่ปลูกไว้ก็จะเจริญเติบโตพอดิบพอดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำมานานนับพันปี ทำให้ยังมีช่างญี่ปุ่นที่สืบทอดองค์ความรู้การก่อสร้างมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ และแนวทางการหมุนเวียนนี้ก็ยังถือเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมในปัจจุบันอีกด้วย
ยกตัวอย่างเมื่อเกิดภัยพิบัติ ญี่ปุ่นหยิบไม้ฮิโนกิมาใช้งานได้ทันที
ในปี 2018 ญี่ปุ่นเองก็เจอกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่มีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วม และดินถล่ม โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของประเทศ รวมไปถึงสะพานคุสึกิ บาชิ (Kusugibashi) ในเมือง Iwakuni เองก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก
หลังจากพายุสงบลง การบรูณะซ่อมแซมจึงเกิดขึ้น แต่สะพานแห่งนี้กับได้รับความพิเศษตรงที่ได้ เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) สถาปนิกชื่อดังเข้ามาออกแบบสะพานให้ใหม่ สถาปนิกเลือกใช้ คอนกรีตเสริมเหล็ก เข้ามาเป็นโครงสร้างหลักให้กับสะพานเพื่อให้เกิดความแข็งแรงและไม่เกิดความเสียหายรุนแรงในอนาคตหากเกิดภัยพิบัติอีก
แต่ไฮไลท์ของงานนี้อยู่ที่การใช้ไม้ไซเปรส หรือไม้ฮิโนกิ ที่มีอยู่รอบบริเวณของพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสาเกในการบริจาคไม้สำหรับการก่อสร้างอีกส่วนหนึ่ง สถาปนิกจึงหยิบไม้นำมาใช้เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับราวกันตก พร้อมออกแบบให้เป็นทรงโค้ง วางเรียงไม้ให้เป็นแพทเทิร์นแบบซี่เหมือนโครงกระดูก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาช่างไม้ในแบบโบราณของชุมชน ผสมผสานเข้ากับกระบวนการออกแบบสมัยใหม่เพื่อความคงทนไม่ให้เกิดความเสียหายเมื่อเกิดภัยพิบัติอีกครั้ง สะพานแห่งนี้จึงเป็นตัวแทนของยุคสมัยที่บ่งบอกเรื่องราว ระหว่างภัยพิบัติ ภูมิปัญญา และความทันสมัย ให้เข้ากันได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยยังไม่มีระบบหมุนเวียนไม้สัก
สำหรับประเทศไทยเองยังไม่มีระบบการหมุนเวียนใช้ไม้สักในลักษณะเดียวกับไม้ฮิโนกิ จึงทำให้ ‘ไม้สัก’ มีราคาแพง และเริ่มหากยากมากขึ้น เพราะจำนวนการตัดไปใช้งานมีมากกว่าการปลูกทดแทน ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อการใช้งานไม้สักลดลง ภูมิปัญญาของคนในอดีตที่มีเทคนิคการก่อสร้างที่เหมาะสม และสวยงาม ก็เริ่มลดหายตามกาลเวลาไปด้วย อย่างไรก็ตามก็หวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีระบบหมุนเวียนไม้สักแบบญี่ปุ่นบ้าง จนเกิดเป็นสะพานไม้สัก ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานเข้ากับยุคสมัยใหม่ ให้เราได้เข้าไปสัมผัส และใช้งานกัน
COPYRIGHT © 2021 D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ALL RIGHTS RESERVED.
ALL MATERIALS POSTED ON THIS SITE ARE SUBJECT TO COPYRIGHTS OWNED BY D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. ANY REPRODUCTION, RETRANSMISSIONS, OR REPUBLICATION OF ALL OR PART OF ANY DOCUMENT FOUND ON THIS SITE IS EXPRESSLY PROHIBITED, UNLESS D-SIGN SOMETHING STUDIO (THAILAND) CO.,LTD. HAS EXPLICITLY GRANTED ITS PRIOR WRITTEN CONSENT TO SO REPRODUCE, RETRANSMIT, OR REPUBLISH THE MATERIAL. ALL OTHER RIGHTS RESERVED.